กระบี่ดันโซลาร์เซลล์สู้ถ่านหิน
การใช้พลังงานโซลาร์เซลล์ในพื้นที่จังหวัดกระบี่เริ่มมีการขยายจากพื้นที่ท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนประมง โดยมีความคาดหวังว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ และจะมีการขยายแหล่งเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้พลังงานสะอาดสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้
โรงแรมและร้านค้าหลายแห่งในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อพึ่งตนเองด้านพลังงาน ส่งผลให้สามารถลดค่าไฟฟ้าลงไปเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นในบางชุมชนก็เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ด้วย เช่น ชุมชนบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มัสยิด
ชุมชนบ้านคลองรั้วเป็นชุมชนชายฝั่ง มีประชากร 317 ครัวเรือน เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (โดยเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน) ในช่วงที่ผ่านมาชุมชนได้ร่วมกับเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีการชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบัน
สุรศักดิ์ เวลาดี ชาวบ้านคลองรั้ว-แหลมหิน กล่าวว่า มัสยิดเป็นสถานที่ส่วนรวม เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นหัวใจของชุมชน เลือกมัสยิดให้ชาวบ้านได้ศึกษา ได้เห็นประโยชน์ของโซลาร์เซลล์ว่ามันใช้ได้จริง บ้านคลองรั้วต่อสู้กับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือถ่านหิน ที่เป็นพลังงานไม่สะอาด เสี่ยงต่อการที่ชาวประมงต้องสูญเสียพื้นที่ทำกิน เสี่ยงต่อวิถีการดำรงชีวิต พลังงานโซลาร์เซลล์เป็นทางออกที่ว่าถ้าไม่เอาถ่านหินแล้วจะเอาอะไร
ศักดิ์กมล แสงดารา กรรมการ บริษัทภาคใต้โซล่าเซลล์ จำกัด กล่าวว่า มาติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มัสยิด จะลดค่าไฟได้ประมาณ 600 บาท ต่อเดือน เป็นการติดตั้งเพื่อลดค่าใช้จ่าย คาดว่าจะเป็นศูนย์ที่ประชาชนที่สนใจได้เรียนรู้ว่าใช้งานอย่างไร ผลิตไฟฟ้าอย่างไร ได้ประโยชน์กับชุมชนอย่างไร โซลาร์เซลล์เป็นพลังงานสะอาดที่คนเล็กคนน้อยสามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่าเป็นไฟฟ้าขนาดเล็กหรือใหญ่ การใช้โซลาร์เซลล์เป็นการช่วยเหลือโลกทางหนึ่ง ในพื้นที่กระบี่หรือภาคใต้ก็เป็นวาระแห่งการเลือกใช้พลังงานสะอาดเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อม จะชวนให้ทุกคนมาใช้พลังงานสะอาด ทำเองใช้เล็กใช้น้อย หรือเรียนรู้ หรือขยายความรู้ เพื่อให้พลังงานสะอาดสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้
ทั้งนี้ การเพิ่มสัดส่วนปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาภายใต้ปฏิญญา Andaman Go Green โดยพลังงานโซลาร์เซลล์เป็นพลังงานหมุนเวียนชนิดหนึ่ง จากการศึกษาพบว่าจังหวัดกระบี่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานชีวมวล พลังงานโซลาร์เซลล์ พลังงานลม พลังงานแก๊สชีวภาพ พลังงานน้ำขนาดเล็ก ได้ประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ สูงกว่าปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของจังหวัดจำนวน 11 เท่า
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนยังคงเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากขาดการสนับสนุนที่เพียงพอจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตจากเอกชน การสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ขอบคุณที่มาแหล่งข้อมูล prachatai.com
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น